สำหรับประเด็นข่าวนั้นก็มีจุดน่าสนใจหลายเรื่องครับ (อันนี้คงมีสปอยล์ล่ะนะครับ หากไม่อยากทราบข้ามไปได้เลยครับ)
อย่างแรกคือประเด็นเกี่ยวกับคนข่าวที่หนังย้ำอยู่ตลอดว่าจริงๆ แล้วเรื่องอื้อฉาวนี้มีคนร้องเรียนมายังหนังสือพิมพ์มานานมากๆ แต่ตอนนั้นคนรับเรื่องคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ มีคนโดนล่วงละเมิดแค่ไม่กี่คน ไม่น่าสนใจและไม่น่านำมาเล่นหรอก เอาเวลาไปเล่นข่าวใหญ่ๆ ดีกว่า
แล้วในที่สุดหลายปีต่อมา ข่าวล่วงละเมิดที่ว่าก็ใหญ่ขึ้นมาจริงๆ เพราะมีคนร้องเรียนเพิ่มขึ้น จน วอลเตอร์ โรบินสัน (Michael Keaton) นักข่าวที่เคยรับคำร้องตอนที่เรื่องนี้ยังเป็นเพียง “เรื่องเล็กๆ ของคนไม่กี่คน” เกิดสำนึกขึ้นมาว่า ถ้าเขาจับข่าวนี้มาตั้งแต่แรก ตั้งแต่สมัยที่มีคนโดนล่วงละเมิดเพียงไม่กี่คน เขาอาจจะสามารถช่วยระงับเรื่องนี้ให้ไม่ใหญ่โตแบบนี้ และอาจช่วยคนอีกหลายคนไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นก็ได้
หนังตั้งประเด็นถามเรื่องจรรยาบรรณและบทบาทของสื่อได้ดีล่ะครับ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้หลายคนทำข่าวเพื่อขายข่าวแลกข้าวและเงิน ซึ่งผมก็เข้าใจนะ มันคืออาชีพ จะให้ทำแล้วกัดก้อนเกลือก็อาจไม่ใช่ทางที่ใครอยากจะเลือก
แต่ประเด็นคือ เราจะคิดถึงแต่เรื่องเงินจนละเลยบทบาทจริงๆ ของสื่อที่ส่วนหนึ่งก็มีไว้เพื่อ “ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และตีแผ่ความจริงให้สังคมรับรู้” อย่างนั้นหรือ?
ทว่าหากคิดในอีกแง่ จะโทษนักข่าวอย่างเดียวก็คงไม่ได้ล่ะครับ เพราะเอาเข้าจริงคนรับสารอย่างประชาชนทั่วไป ก็ดูเหมือนจะชอบข่าวที่มีสีสันใส่ไข่มากกว่าข่าวที่สะท้อนความจริง
ดังนั้นหากมองแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องของสื่อครับ แต่มันคือองค์รวมทั้งระบบของสังคมมนุษย์ที่หากพิจารณาดีๆ แล้ว จะพบว่าพวกเราอาจหลงระเริงกับการกระทำพฤติกรรมที่ทำลายตัวเอง หรือไม่ก็เพิกเฉยละเว้นไม่ทำพฤติกรรมที่ช่วยปกปักษ์รักษาตนเองแบบไม่รู้ตัวก็ได้
ถึงตอนนี้ผมนั่งคิดว่าคุณลักษณะของมนุษย์ทุกวันนี้มันมีแนวโน้มเป็นเช่นไรกันแน่?
เพราะสังคมที่ดูวุ่นๆ วายๆ ทุกวันนี้ ก็เกิดจากคุณลักษณะของพวกเราช่วยกันบ่มเพาะนั่นเอง… ว่าแต่เราแน่ใจจริงๆ นะว่าจะบ่มเพาะอะไรแบบนี้ต่อไป? บ่มเพาะการเอาหูไปหาเอาตาไปไร่กับเรื่องที่สำคัญๆ แต่มัวหันไปสนใจเพ่งเรื่องที่อร่อยลิ้นอร่อยปาก (อย่างเรื่องดราม่าทั้งหลาย)
ผมตระหนักนะว่าทุกวันนี้เราก็สรรหาเหตุผลมาสนับสนุนในสิ่งที่เรากระทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะไร้สาระแค่ไหนก็เถอะ แต่เราก็ยังบอกว่าเรามีเหตุผลและยังยืนยันที่จะทำต่อไป แต่ผมว่าเราอาจต้องลองมอง “แต่ตัวเอง” ให้น้อยลง แลัวหันมามองโลกรอบตัวแบบจริงๆ จังๆ ได้แล้วล่ะครับว่าสิ่งที่เราและหลายๆ คนทำมันส่งผลชนิดใด มันนำสังคมมาสู่จุดใด และถ้ายังทำแบบนี้ต่อไป มันจะนำเราไปไหน?
คนที่ต้องถามตัวเองให้มากหน่อย ก็คือคนที่ไม่รู้สึกโอเคกับหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เรากลับนิ่งและยอมให้มันเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากค่านิยมเฉพาะกลุ่มกลายเป็นวัฒนธรรมที่ใครๆ ก็อ้างว่า “ใครก็ทำ”
หากเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ก็เหมือนเราเป็นเบรคที่ไม่ยอมทำหน้าที่ ปล่อยให้รถพุ่งไปตามยถากรรม… ถึงจุดหนึ่งมันก็คงชน
ปัญหาคือ เราก็อยู่ในรถคันนั้นด้วย… ว่าง่ายๆ คือเราก็ต้องเจอผลกระทบด้วยนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็เถอะ
ในแง่หนึ่งหนังเรื่องนี้พยายามปลุกกระตุ้นให้คนดูตื่นครับ แม้เราจะไม่ใช่คนข่าว แต่เราก็มีบทบาทหน้าที่ช่วยพยุงสังคมให้อยู่รอด ดังนั้นก็ต้องช่วยกันตรวจสอบและสอดส่อง อย่าปล่อยให้สิ่งที่อาจทำลายสังคมเติบโตจนเกินไป
ครับ สรุปว่าหนังเรื่องนี้ทำได้ดีเลยครับ น่าติดตาม เข้มข้น ถือเป็นหนังดราม่าคนข่าวที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมและน่าจดจำชนิดที่ไม่อยากให้พลาดกันเลยล่ะ
ถือเป็นงานกำกับระดับท็อปฟอร์มของ Tom McCarthy ที่ส่งชื่อเขาให้เข้าชิงออสการ์ในหนนี้ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเขามีผลงานดีๆ ออกมาเรื่อยๆ ครับ ไม่ว่าจะ The Station Agent, The Visitor และ Win Win จะมีเป๋ไปบ้างก็ตอนทำ The Cobbler (ที่ Adam Sandler นำแสดง)
The post รีวิว Spotlight (2015) คนข่าวคลั่ง (เวอร์ชั่นสปอยล์) appeared first on .